พระพุทธรูปและโบราณวัตถุสำคัญ ของ วัดสระแก้ว (จังหวัดอุบลราชธานี)

1. พระพุทธมุตตระมงคลมุจลินท์ แผ่นดินสุขสันต์ (พระเจ้าใหญ่สัมฤทธิ์) องค์ขนาด 80 นิ้ว สูง 6.80 เมตร น้ำหนัก 2,500 กิโลกรัม หล่อด้วยทองสัมฤทธ์ ได้ทำพิธีถวายที่วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู พ.ศ. 2552 และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดสระแก้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู พ.ศ. 2552 ซึ่งจัดสร้างโดย พระครูภาวนาจิตสุนทร เจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส พร้อมด้วยศรัทธาญาติโยมและศิษย์ของท่าน

2. ซากปราสาทหิน โดยสร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐาน เทวรูป ด้วยความเชื่อตามคติพราหมณ์ที่ว่า เมื่อตายแล้วก็จะกลับเข้าสู่พรหม ปัจจุบันองค์ปราสาทได้ถูกทำลายลงไปด้วยกาลเวลา ซึ่งในราวปี พ.ศ. 2490 ยังคงเหลือแต่พื้นศิลา ปรากฏที่ใต้ร่มศรีมหาโพธิ์ของวัดสระแก้ว ซึ่งเชื่อว่ามีการสร้างคู่กันกับปราสาทหินอีกฟากของแก่งสะพือมีแม่น้ำมูลคั่นกลางที่ปรากฏในบริเวณโรงเรียนบ้านสะพือใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และมีโบราณสถานรายล้อมรอบอาณาบริเวณ มีตั้งแต่บ่อน้ำ สระน้ำโบราณ ตามหลักสถาปัตยกรรมในการปลูกสร้างตามรูปแบบความเชื่อเรื่องศูนย์กลางของจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถานดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

3. ใบเสมา เป็นหินทรายสีแดงที่บ่งบอกถึงความเจริญทางอารยธรรมของชนเผ่าที่แสดงถึงขอบเขตการขยายตัวทางความเชื่อและศาสนา ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของใบเสมาในเขตของภาคอีสานยังมีอีกมากมาย เช่น เสมาหินบ้านบุ่งผักก้าม ถูกค้นพบที่วัดพัทธสีมาราม บ้านบุ่งผักก้าม ตำบลวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเสมาหินที่มีการกำหนดอายุโดยวิธีทางโบราณคดี โดยใช้วิธีเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์และศิลปะ โดยศึกษาจากศิลปะโบราณวัตถุ สถานที่ที่มีลักษณะรูปแบบลวดลายใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบกับศิลปะโบราณวัตถุจากประเทศใกล้เคียง และคัมภีร์ที่ให้อิทธิพลการกำหนดรูปแบบสลักบนใบเสมา จึงกำหนดอายุได้ว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13 - 16 มีอายุไม่ต่ำกว่า 900 – 1,200 ปี เป็นแบบศิลปะทวาราวดี เสมาหินที่พบมีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดปักรวมกันอยู่ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว บางใบเป็นหินทรายสีแดงมีขนาดใหญ่เล็กปะปนกันตรงกลางมีลวดลายรูปสถูปเจดีย์ประดับอยู่เกือบทุกใบ บางใบเป็นหม้อ "ปูรณฆฏะ" ประกอบลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

4. ฐานศิวลึงค์ อุโรจนะเป็นฐานที่ตั้งศิวลึงค์ที่รอบ ๆ ฐานมีภาพจำหลักที่มีลักษณะคล้าย เต้านมหญิงสาว ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อตามคตินิยมให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชาวโลกให้มีชีวิตที่บริบูรณ์ เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

5. แผ่นศิลาอักษรปัลลวะ เป็นศิลาประเภทหินทราย ขนาดกว้าง 45 เซนติเมตร สูง 63 เซนติเมตร หนา 16.5 เซนติเมตร เรียกกันว่า “ศิลาจารึกวัดสระแก้ว” ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จารึกมีจำนวน 1 ด้าน 3 บรรทัด แต่ชำรุดเกือบทั้งด้าน เหลืออ่านได้เพียง 2 บรรทัดเท่านั้น ซึ่งไม่ครบบรรทัดและที่อ่านได้ปรากฏชื่อของ มหิปติวรมัน เท่านั้น ชื่อนี้ ไม่ปรากฏในทำเนียบพระมหากษัตริย์ของเมืองพระนคร ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า มหิปติวรมัน นี้น่าจะเป็นผู้ปกครองท้องถิ่น ซึ่งอาจจะได้รับอำนาจการปกครองมาจากเมืองพระนครให้ปกครองแว่นแคว้นแห่งนี้

6. ทับหลังวัดสระแก้ว โดยเดิมทีได้มีการขุดค้นพบทับหลัง จำนวน 2 แผ่น ซึ่งในแต่ละแผ่นนั้นมีลวดลาย เรื่องราวที่มีความแตกต่างกัน และอาจเป็นคนละสมัยก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะของทับหลังนั้นจะอยู่ในตำแหน่งของส่วนบนของกรอบประตู แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ทับหลังจริงทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักของส่วนบนของอาคารให้น้ำหนักนั้นเฉลี่ยและถ่ายลงบนทั้งสองข้างของกรอบประตูซึ่งมีเสารองรับอยู่ ส่วนทับหลังประดับนั้นวางอยู่เป็นส่วนหนึ่งของทับหลังจริง ใช้ประดับซุ้มประตูโดยมีการสลักลวดลายต่างๆโดยไม่มีหน้าที่รับนำหนักอาคารปลายทั้งสองด้าน

- ทับหลังแผ่นที่ 1 ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเมง มีลักษณะเป็นหินทรายสีแดงอมชมพู เป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มีวงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลักษณะลวดลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ดังนั้น รูปแบบนี้คงอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 รูปร่างตอนกลางสลักลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทนลายวงโค้ง มีลายอุบะดอกไม้ห้อยลงด้านล่าง และลายช่อดอกไม้ด้านบน ที่กรวยด้านข้างสลักลายดอกไม้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมมีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง

- ทับหลังแผ่นที่ 2 เป็นศิลปะเขมรแบบถาราบริวัตร ได้นำไปเก็บไว้ที่โบสถ์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ของวงโค้งสลักเป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มี วงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ลักษณะลวดลาย คลี่คลายมาจากลวดลาย แบบสมโบร์ไพรกุก

เทวรูป พระพือ ณ วัดสระแก้ว

7. พระพือ เป็นแผ่นหินทรายที่จารเป็นลายเส้นลักษณะของ เทวรูป ในท่าประทับนั่ง หัตถ์ขวาทรง จักร และหัตถ์ซ้ายทรง ดอกบัว เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ค้นพบที่บริเวณร่องน้ำลึกกลางแก่งสะพือที่เรียกว่า แปวเดือนห้า ในลำแม่น้ำมูล ซึ่ง เทวรูป นี้เป็นความเชื่อในคติพราหมณ์ อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ คนโบราณได้เคารพนับถือสืบกันมาจนปัจจุบัน และในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ทุกปี ได้มีการนำออกมาให้ประชาชนชาวอำเภอพิบูลมังสาหารเคารพสักการะและสรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว แล้วจึงนำไปเก็บรักษาไว้ในอุโบสถของวัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

8. สระแก้ว เป็นสระน้ำโบราณที่ขุดขึ้นคู่กับปราสาทหิน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดสระแก้ว ตามความเชื่อของขอมโบราณเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือสระน้ำที่ใช้เป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะเข้าสู่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำให้ร่างกายให้เกิดความบริสุทธิ์ มีความยาว 79 เมตร กว้าง 35 เมตร ลึก 3 เมตร มีแม่น้ำมูลเป็นลำน้ำสายสำคัญ ซึ่งผู้คนปลายน้ำจำเป็นต้องใช้ดื่มใช้กิน เมื่อน้ำไหลไปถึงไหนก็ทำให้เห็นว่า ผู้คนจะสัมพันธ์กับสายน้ำ มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำมูล เพราะหลังประกอบพิธีกรรมลำน้ำทั้งสายจะกลายเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นสายน้ำบริสุทธิ์ สายน้ำจะแสดงความมั่งคั่งของชนเผ่า ลำน้ำมูลสายนี้อาจมีความเชื่อว่าได้ไหลลงมาจากยอดเขา คล้ายกับแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย เป็นเรื่องราวความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งพิธีกรรมที่จะกระทำในสระน้ำจะต้องมีผู้แทนแต่งการนุ่งขาว ห่มขาว แล้วจุดธูป เทียน ดอกไม้ ไปบูชาทวยเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วตักน้ำไปประกอบพิธีกรรม

ใกล้เคียง

วัดสระแก้ว วัดสระแก้วปทุมทอง วัดสระแก้ว (จังหวัดอุบลราชธานี) วัดสระแก้ว (จังหวัดสระแก้ว) วัดสระแก้ว (อำเภอเมืองนครราชสีมา) วัดสระแก้ว (จังหวัดกาญจนบุรี) วัดพระแก้วมรกต วัดพระแก้ว (อำเภอเมืองเชียงราย) วัดพระแก้ว (จังหวัดชัยนาท) วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม